ความหมายของการสอน - มุมความรู้
loading...
loading...

โฆษณา

วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560

ความหมายของการสอน

การสอน เป็นงานหลักของครู ซึ่งปัจจุบันถือว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่บุคคลในวิชาชีพนี้ ต้องได้รับการศึกษาอบรมมาโดยเฉพาะเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถเลือกศึกษา อบรมมาโดยเฉพาะ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถเลือกวิธีปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ดังที่ระบุไว้ในจุดประสงค์การสอน ครูต้องมีการฝึกฝนด้านการสอนอยู่เสมอเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการทำงานเช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ และต้องมีมาตรฐานของวิชาชีพ การที่ครูสามารถปฏิบัติงานการสอนได้ดีขึ้นอยู่กับความสามารถในการผสมผสานศาสตร์ว่าด้วยการสอนกับศิลปะของการสอนเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลของการสอนสูงสุด

การสอน เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความหมายของการศึกษา คือ การส่งเสริมให้บุคคลเจริญเติบโตและมีความเจริญงอกงามทางกาย  อารมณ์ สังคม และสติปัญญาและพัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม การสอนมีความ หมายที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับปรัชญาหรือจุดมุ่งหมายที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน

                  ความหมายของการสอน
                          ความหมายที่เป็นศิลป์เป็นความหมายที่เป็นพฤติกรรมการถ่ายทอดของครูในยุคดั่งเดิมที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้มีประสบการณ์น้อยกว่า ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนขึ้นอยู่กับอารมณ์และความพอใจของผู้สอน การสอนถือว่าเป็นความสามารถหรือ ศิลปเฉพาะตัวของผู้สอน ที่ถ่ายทอดหรือสอน เพราะผู้สอนจะมีลีลาหรือเล่ห์เหลี่ยมการสอนที่แตกต่างกันออกไปตามความรู้ความสามารถและทักษะของแต่ละคน
                          ความหมายที่เป็นศาสตร์ เป็นการสอน (Teaching )    ที่มีระบบระเบียบมากขึ้น มีขั้นตอนที่ชัดเจน มีการแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน  มีการศึกษาค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับ จิตวิทยา การเรียนรู้ของผู้เรียน  ในช่วงต้น ๆ ครูเป็นศูนย์กลางในการจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ตามสถานการณ์และความพอใจของครู
                          ความหมายที่เป็นศาสตร์และศิลป์ เป็นการปรับเปลี่ยนจากการสอน (Teaching )  มาสู่การเรียนการสอน (Instruction) ครูต้องใช้ความรู้ในการวางแผนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยอาศัยสื่อและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนขยายวงกว้างออกไป  รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ  ด้วย
ความหมายของการสอน จำแนกตามความมุ่งหมาย

การสอน  หมายถึง       การถ่ายทอดความรู้

การสอน  หมายถึง      การจัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

การสอน  หมายถึง      การฝึกให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ

การสอน  หมายถึง      การแนะแนวทางแก่ผู้เรียนเพื่อให้ศึกษาหาความรู้

การสอน  หมายถึง      การสร้างหรือการจัดสถานการณ์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

การสอน  หมายถึง      กระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความคิดที่จะนำ ความรู้ไปใช้เกิดทักษะหรือความชำนาญที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

การสอน  หมายถึง      การจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้นักเรียนได้ปะทะเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น  การสอนจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจริญงอกงาม



ครูที่มีประสิทธิผล (Effective Teacher) นอกจากจะมีความรู้ในศาสตร์ของการสอน และมีศิลปะของการสอนแล้ว ยังต้องมีคุณลักษณะ 4 ประการ ต่อไปนี้
  • การประยุกต์ทฤษฎีและการวิจัยการสอนไปใช้
  • การสะสมประสบการณ์การสอน
  • การคิดวินิจฉัยไตร่ตรองและแก้ปัญหา
  • การเรียนรู้การสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้กับประสบการณ์เข้าด้วยกัน

มีผู้ให้ความหมายคำว่า "การสอน" ต่างๆ กันไป เช่น แลงฟอร์ด (Langford 1968 : 114) กล่าวว่า การสอนคือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลคนหนึ่งยอมรับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนรู้ของบุคคลอีกคนหนึ่ง (การสอนจึงเป็นกิจกรรมที่ครูกระทำเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้) ในหนังสือ Dictionary of Education (Good 1973 : 304 และ 588) ได้ให้ความหมายของ การสอนไว้ดังนี้
  • ความหมายของการสอนในระดับแคบ หมายถึง วิธีการที่ครูถ่ายทอดความรู้ อบรมนักเรียน ให้มีความรู้ ความคิด เจตคติและทักษะดังที่จุดประสงค์การศึกษาได้ระบุไว้
  • ส่วนความหมายของการสอนในระดับกว้าง หมายถึง การกระทำและการดำเนินการด้านต่างๆ ของครูภายใต้สภาพการณ์การสอนการเรียน ซึ่งประกอบด้วย
  • การสร้างสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน
  • กระบวนการตัดสินใจและวางแผนก่อนสอน ซึ่งได้แก่ การวางแผนการสอน การจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์


องค์ประกอบของการเรียนการสอน

การเรียนการสอน  มีองค์ประกอบที่เป็นตัวป้อน  กระบวนการ  และ  ผลผลิต

1. ตัวป้อน  ได้แก่  ครู หรือ ผู้สอน  ผู้เรียน  หลักสูตร  สิ่งอำนวยความสะดวก  สื่อ วัสดุอุปกรณ์

2. กระบวนการ ได้แก่ การดำเนินการสอน การตรวจสอบความรู้พื้นฐาน การสร้างความพร้อมในการเรียน การใช้เทคนิคการสอนต่าง ๆ

3. ผลผลิต  ได้แก่  ผลการเรียนรู้ที่เกิดแก่ผู้เรียน ตามจุดประสงค์การเรียนการสอนที่กำหนด



จุดประสงค์การเรียนการสอน

    ความหมายของจุดประสงค์การเรียนการสอน

จุดประสงค์การเรียนการสอน  คือข้อความที่ระบุคุณลักษณะการเรียนรู้และความสามารถที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน  หลังจากที่นักเรียนได้ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนในบทหนึ่ง ๆ แล้ว ความสำคัญของจุดประสงค์การเรียนการสอน

แบ่งได้เป็น  2  ระดับ  คือ

1.  จุดประสงค์ทั่วไป  เป็นจุดประสงค์ที่มีความหมายกว้างไม่เฉพาะเจาะจง และเป็น

จุดประสงค์ที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เช่น เพื่อให้มีนิสัยใฝ่หาความรู้ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมไทย

2.   จุดประสงค์เฉพาะ  เป็นจุดประสงค์ที่มีเฉพาะเจาะจง และเป็นจุดที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง  เช่น นักเรียนสามารถเขียนแผนภูมิแท่งได้ นักเรียนสามารถวาดภาพได้จุดประสงค์เฉพาะจะชี้ให้เห็นสิ่งที่ต้องการจากการศึกษาอย่างเจาะจงและเกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง นอกจากนี้ จุดประสงค์ยังอาจแบ่งได้ตามลักษณะการเรียนรู้ได้เป็น  3  ด้าน ดังนี้

ด้านพุทธิพิสัย  (Cognitive  Domain)  หรือด้านสติปัญญา  หรือด้านความรู้และการคิดประกอบด้วยความรู้ความจำเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ การนำเอาสิ่งที่เป็นความรู้ความจำไปทำความเข้าใจ  นำไปใช้  การใช้ความคิด  วิเคราะห์  สังเคราะห์  และประเมินค่า
ด้านทักษะพิสัย   (Psychomotor  Domain)  หรือด้านทักษะทางกาย  หรือด้านการปฏิบัติ  ประกอบด้วยทักษะการเคลื่อนไหว  และการใช้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย  เช่น การเลียนแบบ การทำตามคำบอก การทำอย่างถูกต้องเหมาะสม การทำได้ถูกต้องหลายรูปแบบ การทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ด้านจิตพิสัย  (Effective  Domain)  หรือด้านอารมณ์ จิตใจ  ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม และคุณธรรม  เช่น  การเห็นคุณค่า  การรับรู้  การตอบสนอง และการสร้างคุณค่าในเรื่องที่ตนรับรู้นั้น  แล้วนำเอาสิ่งที่มีคุณค่านั้นมาจัดระบบและสร้างเป็นลักษณะนิสัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Top Ad

โฆษณา